เว็บไซต์ อนาคามี เผยแพร่คำพระศาสดา เผยแพร่คำสอนตถาคต เว็บไซต์เผยแพร่พระสุตรคำสอนของพระพุทธเจ้า คลิปคำสอน คลิปสาธยายธรรม
ค้นหาคำที่ต้องการ            

ภิกขุนีสูตร ผู้มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษ 2081
 

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙

ภิกขุนีสูตร
ผู้มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษ


ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ ...
เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่
- ความเร่าร้อนมีกายเป็นอารมณ์เกิดขึ้นในกาย ก็ดี
- ความหดหู่แห่งจิตเกิดขึ้น ก็ดี
- จิตฟุ้งซ่านไปในภายนอก ก็ดี  
ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นในนิมิต
- เมื่อเธอตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต ปราโมทย์ย่อมเกิด
- เมื่อเธอปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด
- เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ
เธอมีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น
บัดนี้เราจะคุมจิตไว้ เธอคุมจิตไว้และไม่ตรึกไม่ตรอง
ย่อมรู้ชัดว่า เราไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติ ในภายใน เป็นผู้มีความสุข ดังนี้



เรื่องสำคัญของพระพุทธเจ้า
การบำเพ็ญบารมีในอดีตชาติ
การประสูติ แสงสว่าง แผ่นดินไหว
แสวงหาสัจจะบำเพ็ญทุกรกิริยา
ปัญจวัคคีย์หลีก สิ่งที่ตรัสรู้
ตรัสรู้ แสดงเทศนาปัญจวัคคีย์
ปลงสังขาร ปรินิพพาน
ลำดับขั้นการปรินิพพาน
เทวดาแสดงฤทธิ์ขณะถวายเพลิง
แบ่งพระสรีระออกเป็น ๘ ส่วน
 
รวมพระสูตรบุคคลสำคัญ
พระโมคคัลลานะ
พระสารีบุตร
พระเทวทัต
นิครนถ์ปริพาชก
พระมหากัปปินะ
พระอนุรุทธะ
พระอุบาลี
(ดูทั้งหมด)
 
สารบาญพระไตรปิฎก
เล่มที่ ๘-๓๓ (๒๕ เล่ม) ทุกพระสูตร
1. ฉบับหลวง
2. ฉบับมหาจุฬาฯ
3. อรรถกถาไทย
4. ฉบับภาษาบาลี
5. อรรถกถา-บาลี
6. Pali Roman (Roman Script)
7. Atthakatha PaliRoman
 

 


 


พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๗๒-๑๗๕

ภิกขุนีสูตร
ผู้มีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษ

            [๗๑๔] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์ นุ่งแล้ว ถือบาตร และจีวร เข้าไปยังสำนักของนางภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้ ครั้งนั้น ภิกษุณีมากรูปเข้าไปหาท่านพระอานนท์ ไหว้ท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว จึงพูดกะท่านพระอานนท์ว่า

            ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ ภิกษุณีมากรูปในธรรมวินัยนี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วใน สติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน ท่านพระอานนท์ ตอบว่า น้องหญิง ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษ อันยิ่งอย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน ลำดับนั้น ท่านพระอานนท์ยังภิกษุณีเหล่านั้น ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วลุกจากอาสนะหลีกไป

            [๗๑๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เที่ยวไปบิณฑบาตในพระนครสาวัตถีแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคม พระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช้านี้ ข้าพระองค์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังสำนัก นางภิกษุณีแห่งหนึ่ง แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้

            ครั้งนั้น ภิกษุณีมากรูปเข้ามาหาข้าพระองค์ ไหว้ข้าพระองค์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้พูดกะข้าพระองค์ว่า ข้าแต่ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ภิกษุณี มากรูป ในธรรมวินัยนี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ย่อมรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่น จากคุณวิเศษในกาลก่อน เมื่อภิกษุณีทั้งหลายพูดอย่างนี้แล้ว ข้าพระองค์ตอบว่า น้องหญิง ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่น ดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้นพึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่ง อย่างอื่นจากคุณวิเศษในกาลก่อน

            [๗๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้อนี้เป็น อย่างนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในสติปัฏฐาน ๔ ภิกษุหรือ ภิกษุณีรูปนั้น พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักรู้คุณวิเศษอันยิ่งอย่างอื่น จากคุณวิเศษในกาลก่อน

สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน?

            [๗๑๗] ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณา เห็นกายในกายอยู่ ความเร่าร้อนมีกายเป็นอารมณ์เกิดขึ้นในกายก็ดี ความหดหู่แห่งจิต เกิดขึ้นก็ดี จิตฟุ้งซ่านไปในภายนอกก็ดี ภิกษุนั้นพึงตั้งจิตไว้ให้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้ง แห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเธอตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่ง ความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด

            เมื่อเธอปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ เธอ มีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น

            เธอย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ ว่า เราตั้งจิตไว้เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น สำเร็จแก่เราแล้ว บัดนี้เราจะคุมจิตไว้ เธอคุมจิตไว้และไม่ตรึกไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่า เราไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีสติ ในภายใน เป็นผู้มีความสุขดังนี้

            [๗๑๘] ดูกรอานนท์ อีกประการหนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย

            เมื่อเธอพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ ความเร่าร้อน มีธรรมเป็นอารมณ์ เกิดขึ้น ในกายก็ดี ความหดหู่แห่งจิตเกิดขึ้นก็ดี จิตฟุ้งซ่านไปในภายนอกก็ดี ภิกษุนั้น พึงตั้งจิต ไว้ให้มั่น ในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง

            เมื่อเธอตั้งจิตไว้มั่นในนิมิต อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสอย่างใดอย่างหนึ่ง อยู่ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อเธอปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อเธอมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมระงับ เธอมีกายระงับแล้ว ย่อมเสวยสุข เมื่อเธอมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น เธอย่อม พิจารณาเห็น อย่างนี้ว่า เราตั้งจิตไว้ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น สำเร็จแก่เราแล้ว บัดนี้เราจะคุมจิตไว้ เมื่อเธอคุมจิตไว้ และไม่ตรึกไม่ตรอง ย่อมรู้ชัดว่าเราไม่มีวิตก เราไม่มีวิจาร มีสติในภายใน เป็นผู้มีความสุข ดังนี้

            ดูกรอานนท์ ภาวนาย่อมมีเพราะ ตั้งจิตไว้ ด้วยประการฉะนี้แล


ภาวนาย่อมมี เพราะไม่ตั้งจิตไว้ในภายนอก

            [๗๑๙] ดูกรอานนท์ ก็ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ตั้งจิตไว้ในภายนอกอย่างไร?ดูกรอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรามิได้ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้นเธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ได้ฟุ้งซ่านไปข้างหลังและข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติเป็นผู้มีความสุข ดังนี้

            [๗๒๐] ดูกรอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอกย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรามิได้ ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไป ข้างหลังและ ข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็น เวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้

            [๗๒๑] ดูกรอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรา มิได้ ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไป ข้างหลัง และ ข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็น จิต ในจิตอยู่ มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้

            [๗๒๒] ดูกรอานนท์ ภิกษุมิได้ตั้งจิตไว้ในภายนอก ย่อมรู้ชัดว่า จิตอันเรา มิได้ ตั้งไว้ในภายนอก ในลำดับนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า จิตของเราไม่ฟุ้งซ่านไป ข้างหลัง และ ข้างหน้า พ้นแล้ว มิได้ตั้งอยู่ ก็แลในกาลนั้น เธอย่อมรู้ชัดว่า เราย่อมพิจารณาเห็น ธรรม ในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ เป็นผู้มีความสุข ดังนี้

            [๗๒๓] ดูกรอานนท์ ภาวนาย่อมมีเพราะไม่ได้ตั้งจิตไว้(ภายนอก)อย่างนี้แล

            ดูกรอานนท์ ภาวนาย่อมมีเพราะตั้งจิตไว้ เราแสดงแล้ว ภาวนาย่อมมีเพราะมิได้ ตั้งจิตไว้ เราก็แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล ดูกรอานนท์ กิจอันใดอันศาสดาผู้แสวงหา ประโยชน์ ผู้อนุเคราะห์ มุ่งความอนุเคราะห์จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจอันนั้น เรา กระทำแล้ว แก่เธอทั้งหลาย อานนท์นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลังนี้เป็นอนุศาสนีของเรา สำหรับเธอ ทั้งหลาย

            พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระอานนท์ปลื้มใจชื่นชม ภาษิต ของพระผู้มีพระภาคแล้วแล

 


 





หนังสือพุทธวจน ธรรมะของพระศาสดา
90 90 90 90
พุทธประวัติ ขุมทรัพย์ อริยสัจ
ภาคต้น
อริยสัจ
ภาคปลาย
ปฏิจจ ปฐมธรรม ตถาคต อนาคามี อินทรีย์
สังวร
สัตว์
สัตตานัง
ทาน
สกทาคามี
ฆราวาส
ชั้นเลิศ
มรรควิธี
ที่ง่าย
อริยวินัย เดรัจฉานวิชา กรรม สมถะ
วิปัสสนา
โสดาบัน นา
ปานสติ
จิต มโน
วิญญาณ
ก้าวย่าง
อย่างพุทธะ
ตามรอย
ธรรม
ภพ ภูมิ
พุทธวจน
สาธยาย
ธรรม
สังโยชน์