พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๖๖
อกุสลราสิสูตร
กองอกุศล ๕
[๖๙๖] สาวัตถีนิทาน. ณ ที่นั้นแล ฯลฯ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพุทธภาษิต นี้ว่าดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึงนิวรณ์ ๕ เพราะว่ากองอกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่นิวรณ์ ๕
นิวรณ์ ๕ เป็นไฉน?
คือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองอกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึง นิวรณ์ ๕ เหล่านี้ เพราะกองอกุศลทั้งสิ้นนี้ได้แก่นิวรณ์ ๕
[๖๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูกต้อง กล่าว ถึงสติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนา ในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะกล่าวว่ากองกุศล จะกล่าวให้ถูก ต้องกล่าวถึง สติปัฏฐาน ๔ เพราะว่ากองกุศลทั้งสิ้นนี้ ได้แก่สติปัฏฐาน
-----------------------------------------------------------------------------------------------
พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก หน้า ๑๖๗-๑๖๘
สกุณัคฆีสูตร
ว่าด้วยอารมณ์โคจร
[๖๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถ โดยรวดเร็ว ครั้งนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวนำไป ได้รำพันอย่างนี้ว่า เราเป็นคนอับโชค มีบุญน้อย ที่เที่ยวไปในถิ่นของผู้อื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ถ้าวันนี้เราไปเที่ยวในถิ่น อันเป็น ของบิดาตน ซึ่งควรเที่ยวไปไซร้ เหยี่ยวตัวนี้เราอาจต่อสู้ได้
เหยี่ยวจึงถามว่า แน่ะนกมูลไถ ก็ถิ่นซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นที่หากินของเจ้า เป็นเช่นไร?
นกมูลไถตอบว่า คือ ที่ๆ มีก้อนดิน ซึ่งเขาทำการไถไว้
ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างกำลังของตน ปล่อยนกมูลไถไป พร้อมด้วยบอกว่า เจ้าจงไปเถิดนกมูลไถ เจ้าจะไปแม้ในที่นั้นก็ไม่พ้นเราได้ นกมูลไถ จึงไปยังที่ๆ มีก้อนดินซึ่งเขาทำการไถไว้ ขึ้นสู่ก้อนดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวอยู่ว่า แน่ะเหยี่ยว บัดนี้ท่านจงมาจับเราเถิด ครั้งนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน อวดอ้างใน กำลังของตน จึงห่อปีกทั้ง ๒โฉบนกมูลไถโดยรวดเร็ว ครั้งใด นกมูลไถรู้ว่าเหยี่ยวนี้ โฉบลงมาเร็วจะจับเรา ครั้งนั้น ก็หลบเข้าซอกดินนั้นเอง เหยี่ยวยังอกให้กระแทกดิน (ตาย) ในที่นั้นเอง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในถิ่นอื่น อันมิใช่ถิ่นหากิน ย่อมเป็นเช่นนี้แล
[๖๙๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปใน อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์อื่น อันมิใช่โคจร มารจักได้ช่อง มารจักได้อารมณ์ ก็อารมณ์อื่นอันมิใช่โคจรของภิกษุ คืออะไร? คือ กามคุณ ๕ กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปอันพึงรู้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัดเสียงที่พึงรู้ด้วยหู ... กลิ่นที่พึงรู้ด้วยจมูก ... รสที่พึงรู้ด้วยลิ้น ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คืออารมณ์อื่น มิใช่โคจรของภิกษุ
[๗๐๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดา ตนอันเป็นโคจร เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในอารมณ์ ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจร มารจักไม่ได้ช่อง มารจักไม่ได้อารมณ์ ก็อารมณ์อันเป็นของบิดา อันเป็นโคจร คืออะไร? คือสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณา เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียรมีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส ในโลก เสีย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้คือ อารมณ์ซึ่งเป็นของบิดาตน อันเป็นโคจรของภิกษุ
|