พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ พระสุตตันตปิฎก ๑๙๕-๑๙๗
มหานามสูตร
ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน แต่ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
[๑๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้พระนคร กบิลพัสดุ์ ในแคว้นสักกะ ครั้งนั้น เจ้าศากยะพระนามว่ามหานาม เสด็จเข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับ ณ ที่ควร ส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
(๑) ด้วยเหตุ มีประมาณเท่าไรหนอ บุคคลชื่อว่าเป็นอุบาสก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรมหานาม เมื่อใดแล บุคคลถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ด้วยเหตุ มีประมาณเท่านี้ ชื่อว่าเป็นอุบาสก
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
(๒) ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ มีศีล
พ. ดูกรมหานาม เมื่อใดแล อุบาสก งดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจาก อทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร งดเว้นจากมุสาวาท งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและ เมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ อุบาสก ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
(๓) ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์ตน
ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
พ. ดูกรมหานาม เมื่อใดแล
๑) อุบาสกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา
๒) ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล
๓) ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะแต่ไม่ชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
๔) ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อเห็นภิกษุ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นในการเห็นภิกษุ
๕) ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อฟังสัทธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นในการฟังสัทธรรม
๖) ตนเองเป็นผู้ทรงจำธรรมที่ตนฟังแล้วได้ แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น เพื่อการทรงจำธรรม
๗) ตนเองเป็นผู้พิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ตนฟังแล้ว แต่ไม่ชักชวนผู้อื่นในการ พิจารณาอรรถแห่งธรรม
๘) ตนเองรู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรม แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น ในการปฏิบัติธรรม อันสมควรแก่ธรรม
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ อุบาสกชื่อว่าเป็น ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน ไม่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
(๔) ก็ด้วยเหตุมีประมาณเท่าไร อุบาสกชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อ ประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น
พ. ดูกรมหานาม เมื่อใดแล
๑) อุบาสกเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธาด้วยตนเอง และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วย ศรัทธา
๒) ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยศีล
๓) ตนเองเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ และชักชวนผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยจาคะ
๔) ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อเห็นภิกษุ และชักชวนผู้อื่นในการเห็นภิกษุ
๕) ตนเองเป็นผู้ใคร่เพื่อฟังสัทธรรม และชักชวนผู้อื่นในการฟังสัทธรรม
๖) ตนเองเป็นผู้ทรงจำธรรมที่ตนฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นเพื่อการทรงจำธรรม
๗) ตนเองเป็นผู้พิจารณาอรรถแห่งธรรมที่ตนฟังแล้ว และชักชวนผู้อื่นในการพิจารณา อรรถแห่งธรรม
๘) ตนเองรู้ทั่วถึงอรรถรู้ทั่วถึงธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และชักชวนผู้อื่น ในการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล อุบาสกชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตน และเพื่อประโยชน์ผู้อื่น |